บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบวลีกับประโยค ชุดที่ 3

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1.  คนที่ละเอียดที่ถ้วนในเรื่องเล็ก แต่ไม่ระมัดระวังในเรื่องใหญ่ ตรงกับสำนวนใด
ก.  เห็นช้างเท่าหมู
ข.  โลภนักมักลาภหาย
ค.  เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
ง.  ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น
จ.  เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง

ข้อที่  2.  คนหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ตรงกับสำนวนในข้อใด
ก.  สิบเบี้ยใกล้มือ
ข.  น้ำขึ้นให้รับตัก
ค.  ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก
ง.  น้ำลอดใต้ทราย
จ.  น้ำลดหมดคลอง

ข้อที่  3.  ข้อใด ไม่ใช่ความหมายของ “แกงจืดรู้คุณเกลือ”
ก.  เรามักไม่รู้คุณค่าของน้ำ จนกว่าบ่อจะแห้ง
ข.  แกงจืดต้องใส่น้ำปลา จึงจะออกรส
ค.  ยามต้องการของธรรมดา ก็กลายเป็นของมีค่า
ง.  จะรู้สิ่งใดมีค่า ก็เมื่อขาดสิ่งนั้น
จ.  ข้อ ก. และ ข้อ ข. ถูก

ข้อที่  4.  “เร็วเหมือน ....................” คำในช่องว่าง ควรเป็นข้อใด
ก.  ลิง
ข.  จรวด
ค.  ลมกรด
ง.  ไฟบรรลัยกัลป์
จ.  เรือบินไอพ่น

ข้อที่  5.  “ใจแข็งเหมือน ....................” คำในช่องว่าง ควรเป็นข้อใด
ก.  ไม้
ข.  โจร
ค.  เหล็กเพชร
ง.  ภูเขา
จ.  หิน

เฉลย

ข้อที่  1.  คนที่ละเอียดที่ถ้วนในเรื่องเล็ก แต่ไม่ระมัดระวังในเรื่องใหญ่ ตรงกับสำนวนใด
ก.  เห็นช้างเท่าหมู
ข.  โลภนักมักลาภหาย
ค.  เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
ง.  ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น
จ.  เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง

วิเคราะห์

สำนวนในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

เห็นช้างเท่าหมู  (สำ) ก. เห็นฝ่ายตรงข้ามซึ่งแม้จะตัวใหญ่กว่าหรือมีอำนาจมากกว่าไม่น่าเกรงขามในเวลาที่โกรธมากจนลืมตัว.
โลภ  น. ความอยากได้ไม่รู้จักพอ. (ป., ส.).
เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย  (สำ) ก. เสียเพียงเล็กน้อยไม่ยอมเสีย ทำให้ต้องเสียมากกว่าเดิม เช่น ตอนที่เบรกรถยนต์เริ่มไม่ดี ก็ไม่รีบไปซ่อม พอเบรกแตกไปชนต้นไม้เข้า เลยต้องเสียค่าซ่อมมาก เข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย.
ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น  (สํา) ว. ดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วนแต่ไม่รอบคอบถี่ถ้วนจริง, ประหยัดในสิ่งที่ไม่ควรประหยัด ไม่ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด.
เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง  (สํา) ก. ทําเลียนแบบคนใหญ่คนโตหรือคนมั่งมีทั้งๆ ที่ตนไม่มีกําลังทรัพย์หรือความสามารถพอ, มีความหมายอย่างเดียวกับเห็นเขาขึ้นคานหาม เอามือประสานก้น หรือเห็นเขาขึ้นคานหาม เอามือประสานรัดก้น.

สำนวนที่ว่า “โลภนักมักลาภหาย”  มาจากนิทานเรื่อง “โลภมากลาภหาย” ดังนี้

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุณีชื่อถูลนันทา ผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคกระเทียม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง มีภรรยาและได้ลูกสาว ๓ คน ชื่อ นันทา นันทวดี และสุนันทา พอลูกสาวทั้ง ๓ ได้สามีแล้วทุกคน พราหมณ์ก็ได้เสียชีวิตไปเกิดเป็นหงส์ทองคำระลึกชาติได้
วันหนึ่ง ได้เห็นความลำบากของนางพราหมณีและลูกสาวของตนที่ต้องรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพ จึงเกิดความสงสาร ได้โผบินไปจับที่บ้านนางพราหมณี
แล้วเล่าเรื่องราวให้แก่นางพราหมณีและลูกสาวฟัง และได้สลัดขนให้แก่พวกเขาเหล่านั้นคนละหนึ่งขนแล้วก็บินหนีไป หงส์ทองได้มาเป็นระยะๆ มาครั้งใดก็สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขน โดยทำนองนี้นางพราหมณีและลูกสาวจึงร่ำรวยและมีความสุขไปตามๆ กัน
ต่อมา วันหนึ่งนางพราหมณีเกิดความโลภจึงปรึกษากับลูกๆ ว่า " ถ้าหงส์มาครั้งนี้ พวกเรา จะจับถอนขนเสียให้หมด เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติมาก "
พวกลูกๆ ไม่เห็นดีด้วย แต่นางพราหมณีไม่สนใจ ครั้นวันหนึ่งพญาหงส์ทองมาอีก นางก็ได้จับถอนขนเสียให้หมด
ขนเหล่านั้นกลายเป็นขนนกธรรมดาเท่านั้น เพราะพญาหงส์ทองมิได้ให้ด้วยความสมัครใจ นางพราหมณีได้เลี้ยงหงส์นั้นจนขนงอกขึ้นใหม่เต็มตัว หงส์ก็ได้บินหนีไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลย
พระพุทธองค์ เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า
"บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณ เป็นความชั่วแท้นางพราหมณี จับเอาพญาหงส์ทองแล้วจึงเสื่อมจากทองคำ "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โลภมาก มักลาภหาย
(เรื่องที่ ๖ ในอสัมปทานวรรค หน้า ๕๓๖-๕๔๐ พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒)
คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ง.

ข้อที่  2.  คนหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ตรงกับสำนวนในข้อใด
ก.  สิบเบี้ยใกล้มือ
ข.  น้ำขึ้นให้รับตัก
ค.  ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก
ง.  น้ำลอดใต้ทราย
จ.  น้ำลดหมดคลอง

วิเคราะห์

สำนวนในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้
ไม่มีสำนวนนี้ ในพจนานุกรม
สิบเบี้ยใกล้มือ  (สํา) น. ของเล็กน้อยที่จะได้แน่ๆ ควรเอาไว้ก่อน.
น้ำขึ้นให้รีบตัก  (สํา) มีโอกาสดีควรรีบทํา.
ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกก่งหน้าไม้  (สํา) ว. ด่วนทําไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร.
น้ำลอดใต้ทราย  ไม่มีสำนวนนี้ ในพจนานุกรม
น้ำลดหมดคลอง  ไม่มีสำนวนนี้ ในพจนานุกรม มีแต่สำนวนว่า “น้ำลดตอผุด” (สํา) เมื่อหมดอํานาจความชั่วที่ทําไว้ก็ปรากฏ.

สำนวน “น้ำลอดใต้ทราย” เป็นสำนวนเก่าที่ไม่นิยมใช้กันแล้ว บล็อกของ  www.oknation.net เขียนไว้ดังนี้
น้ำลอดใต้ทราย...การกระทำอย่างลี้ลับไม่มีผู้รู้เห็น
ผิวบนของทรายมักจะแห้งผากอยู่เสมอ แต่ถ้าขุดลึกลงไปก็จะพบน้ำซับอยู่ แสดงว่ามีน้ำไหลซึมอยู่ใต้พื้นทรายนั้น จึงเปรียบการกระทำที่ปกปิดซ่อนเร้นไม่มีผู้รู้เห็นว่าเหมือนน้ำลอดใต้ทราย
สำนวนนี้บางทีมีคำกล่าวต่อเป็น “น้ำลอดใต้ทราย เดือนหงายกลางป่า”

โคลงสุภาษิตเก่า อธิบายความหมายว่า

    น้ำลอด  เลศลับล้ำ
เหลือเข็ญ
ใต้ทราย  ห่อนแลเห็น
เหตุรู้
เดือนหงาย  บ่ายเที่ยงเป็น
ปางค่ำ
กลางป่า  ไป่หาผู
จักรู้เห็นฤา

ตัวอย่าง.. “พวกมิจฉาชีพกลุ่มนี้ ทำงานแบบ น้ำลอดใต้ทราย ต้องส่งมือปราบระดับเซียนไปจัดการ” (ที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=243958)
คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค.

ข้อที่  3.  ข้อใด ไม่ใช่ความหมายของ “แกงจืดรู้คุณเกลือ”
ก.  เรามักไม่รู้คุณค่าของน้ำ จนกว่าบ่อจะแห้ง
ข.  แกงจืดต้องใส่น้ำปลา จึงจะออกรส
ค.  ยามต้องการของธรรมดา ก็กลายเป็นของมีค่า
ง.  จะรู้สิ่งใดมีค่า ก็เมื่อขาดสิ่งนั้น
จ.  ข้อ ก. และ ข้อ ข. ถูก

วิเคราะห์

สำนวน “แกงจืดรู้คุณเกลือ”, “แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ” หมายความว่า เมื่อได้รับความลำบาก จึงนึกถึงคุณ
ข้อ จ. เป็นคำตอบที่ถูกต้อง
ก.  เรามักไม่รู้คุณค่าของน้ำ จนกว่าบ่อจะแห้ง  เป็นความหมายโดยตรง ความหมายไม่สอดคล้องกับแกงจืดจึงรู้คุณเกลือ
ข.  แกงจืดต้องใส่น้ำปลา จึงจะออกรส  เป็นความหมายโดยตรง ความหมายไม่สอดคล้องกับแกงจืดจึงรู้คุณเกลือ

ข้อที่  4.  “เร็วเหมือน ....................” คำในช่องว่าง ควรเป็นข้อใด
ก.  ลิง
ข.  จรวด
ค.  ลมกรด
ง.  ไฟบรรลัยกัลป์
จ.  เรือบินไอพ่น

วิเคราะห์

ข้อ ข. เป็นคำตอบที่ถูกต้อง
คำตอบทำนองนี้ ต้องจำเอาอย่างเดียว

ข้อที่  5.  “ใจแข็งเหมือน ....................” คำในช่องว่าง ควรเป็นข้อใด
ก.  ไม้
ข.  โจร
ค.  เหล็กเพชร
ง.  ภูเขา
จ.  หิน

วิเคราะห์

ข้อ จ. เป็นคำตอบที่ถูกต้อง
คำตอบทำนองนี้ ต้องจำเอาอย่างเดียว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น