บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบวลีกับประโยค ชุดที่ 4

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1.  “บริสุทธิ์เหมือน ....................” คำในช่องว่าง ควรเป็นข้อใด
ก.  เพชร
ข.  แตงร่มใบ
ค.  หยาดน้ำค้าง
ง.  กุหลาบแรกแย้ม
จ.  น้ำเพชร

ข้อที่  2.   “ลูกชายติดแม่เปรียบเหมือน .................... ของพ่อเลี้ยง” คำในช่องว่าง ควรเป็นข้อใด
ก.  กันชน
ข.  ก้างขวางคอ
ค.  หนามในอก
ง.  หอกข้างแคร่
จ.  หนามยอกอก

ข้อที่  3.  คำว่า “ขอด” ในข้อใด มีความหมายว่า “ติดอยู่บ้าง”
ก.  ขอดผ้า
ข.  ขอดพก
ค.  น้ำขอดคลอง
ง.  เขาขอดโอ่งน้ำ
จ.  ขอดกระโถน

ข้อที่  4.  สำนวนภาษาในข้อใด ถูกต้อง
ก.  เธอนี้ ไม่เอาไหนเลย
ข.  อาจารย์ครับ ผมขอลุ้นด้วยสักคน
ค.  ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี เป็นเบ๊ที่ดีด้วย
ง.  เราไปรับประทานอาหารที่ร้านกิ๊กก๊อก ถนนศรีอยุธยาดีกว่า
จ.  ข้อ ก. และ ข้อ ข. ถูก

ข้อที่  5.  สำนวนภาษาในข้อใด ถูกต้อง
ก.  ชาวพุทธควรใส่บาตรทุกวันพระ
ข.  หนุ่มสาวสมัยนี้ ชอบใส่กางเกงยีน
ค.  เขาถูกใส่ความจนเสียคน
ง.  ยกหีบใส่เรือให้หมด
จ.  ข้อ ก. และ ข้อ ค. ถูก

เฉลย

ข้อที่  1.  “บริสุทธิ์เหมือน ....................” คำในช่องว่าง ควรเป็นข้อใด
ก.  เพชร
ข.  แตงร่มใบ
ค.  หยาดน้ำค้าง
ง.  กุหลาบแรกแย้ม
จ.  น้ำเพชร

วิเคราะห์

ข้อ จ. เป็นคำตอบที่ถูกต้อง
คำตอบทำนองนี้ ต้องจำเอาอย่างเดียว

ข้อที่  2.   “ลูกชายติดแม่เปรียบเหมือน .................... ของพ่อเลี้ยง” คำในช่องว่าง ควรเป็นข้อใด
ก.  กันชน
ข.  ก้างขวางคอ
ค.  หนามในอก
ง.  หอกข้างแคร่
จ.  หนามยอกอก

วิเคราะห์

คำตอบที่ต้องเลือกคือ “ก้างขวางคอ” กับ “หอกข้างแคร่” ทั้ง 2 สำนวนนั้น พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้
ก้างขวางคอ  น. ผู้ขัดขวางมิให้ทําการได้สะดวก, ผู้ขัดขวางให้ผู้อื่นเสียประโยชน์
หอกข้างแคร่  (สํา) น. คนใกล้ชิดที่อาจคิดร้ายขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ มักใช้แก่ลูกเลี้ยงที่ติดมากับพ่อหรือแม่, ศัตรูที่อยู่ข้างตัว.
สำนวน “ก้างขวางคอ” นั้น เหมาะสมในตอนที่ผู้ชายมาติดพันแม่หม้าย ในช่วงนั้น ลูกชายก็จะเป็นก้างขวางคอ  เมื่อผู้ชายเปลี่ยนสถานะมาเป็นพ่อเลี้ยง  ลูกชายของแม่หม้ายก็เปลี่ยนสถานะไปเป็น “หอกข้างแคร่
คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ง.

ข้อที่  3.  คำว่า “ขอด” ในข้อใด มีความหมายว่า “ติดอยู่บ้าง”
ก.  ขอดผ้า
ข.  ขอดพก
ค.  น้ำขอดคลอง
ง.  เขาขอดโอ่งน้ำ
จ.  ขอดกระโถน

วิเคราะห์

คำว่า “ขอด” พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้
ขอด ๑  ก. ขมวดเป็นปม เช่น ขอดเชือก ขอดผ้า ขอดชายพก. ว. ที่ขมวดเป็นปมหรือม้วนเข้ามา เช่น หมาหางขอด.
ขอด ๒  ก. ทำให้สิ่งที่ติดอยู่ออกมาด้วยอาการอย่างขูด เช่น ขอดเกล็ดปลา, เหลืออยู่น้อยจนถึงกับต้องขูดเอา เช่น น้ำขอดคลอง น้ำขอดโอ่ง ข้าวขอดหม้อ.
ขอดค่อน  ก. ค่อนว่า, พูดแคะไค้ในเรื่องที่ไม่ดี, พูดให้เขาอายหรือเจ็บใจ, ค่อนขอด ก็ว่า.

คำตอบที่น่าจะถูกต้องก็คือ
ค.  น้ำขอดคลอง
ง.  เขาขอดโอ่งน้ำ
ในข้อนี้ ข้อความที่ว่า “ติดอยู่บ้าง” ของโจทย์  ความหมายเน้นไปที่คำนาม  คือ สภาพที่มีของเล็กน้อย  ไม่ได้เน้นไปที่คำกริยา  ดังนั้น ข้อ ค. เป็นคำตอบที่ถูกต้อง

ข้อที่  4.  สำนวนภาษาในข้อใด ถูกต้อง
ก.  เธอนี้ ไม่เอาไหนเลย
ข.  อาจารย์ครับ ผมขอลุ้นด้วยสักคน
ค.  ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี เป็นเบ๊ที่ดีด้วย
ง.  เราไปรับประทานอาหารที่ ร้านกิ๊กก๊อก ถนนศรีอยุธยาดีกว่า
จ.  ข้อ ก. และ ข้อ ข. ถูก

วิเคราะห์

ข้อนี้เป็นการใช้ภาษาต่างระดับกัน  ตัวอักษรสีแดงในแต่ละข้อ เป็นศัพท์ที่ไม่ควรอยู่ในข้อความดังกล่าว เพราะ เป็นคำในภาษาคนละระดับกัน
ข้อความ “ร้านกิ๊กก๊อก” เป็นชื่อของร้านอาหาร จึงไม่ใช่ภาษาคนละรัดของข้อความอื่นๆ
ดังนั้น ข้อ ง.จึงเป็นคำตอบที่ถูกต้อง

ข้อที่  5.  สำนวนภาษาในข้อใด ถูกต้อง
ก.  ชาวพุทธควรใส่บาตรทุกวันพระ
ข.  หนุ่มสาวสมัยนี้ ชอบใส่กางเกงยีน
ค.  เขาถูกใส่ความจนเสียคน
ง.  ยกหีบใส่เรือให้หมด
จ.  ข้อ ก. และ ข้อ ค. ถูก

วิเคราะห์

โจทย์ข้อนี้ เกี่ยวกับคำว่า “ใส่”  คำนี้ พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

ใส่  ก. สวม เช่น ใส่เสื้อ ใส่กางเกง, เอาไว้ข้างในภาชนะหรือสถานที่เป็นต้น เช่น กรอกน้ำใส่ขวด นำนักโทษไปใส่คุก, บรรทุก เช่น เอาสินค้าใส่รถ.
ใส่ไข่  (สำ) อาการที่พูดขยายความให้เกินความจริง, ใส่สีสัน หรือใส่สีใส่สัน ก็ว่า.
ใส่ความ  ก. พูดหรือเขียนให้ร้ายป้ายสี, กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย, เช่น เขามีนิสัยไม่ดี ชอบใส่ความคนอื่น.
ใส่คะแนนไม่ทัน  (ปาก) ว. เร็วมาก, คล่องมาก, (ใช้แก่กริยาพูด), เช่น เธอพูดเร็วมากจนใส่คะแนนไม่ทัน.
ใส่ไคล้  ก. หาความใส่ร้ายผู้อื่นด้วยเล่ห์กล.
ใส่จริต  ก. แสร้งทำกิริยาท่าทางหรือวาจาให้ดูน่ารักเพื่อเรียกร้องความสนใจเป็นต้น (มักใช้แก่หญิง).
ใส่ใจ  ก. ใส่ไว้ในใจ, จดจำ, เช่น จำใส่ใจไว้ให้ดีนะ, เอาใจจดจ่อ เช่น นักเรียนควรใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียนให้มาก.
ใส่ตะกร้าล้างน้ำ  (สํา) ก. ทําให้หมดราคี, ทําให้หมดมลทิน, (ใช้แก่ผู้หญิงที่มีราคีคาว) เช่น หญิงที่มีราคีแล้ว ถึงจะใส่ตะกร้าล้างน้ำก็ไม่หมดราคีคาว.
ใส่ถ้อยร้อยความ  (สํา) ก. ใส่ความ, พูดหาเหตุหาเรื่อง.
ใส่ไฟ  ก. เติมเชื้อเพลิง เช่น คอยเอาฟืนใส่ไฟไว้นะ อย่าให้ไฟดับ; จุดไฟเผาศพ; โดยปริยายหมายถึงให้ร้ายผู้อื่นทำให้ได้รับความเสียหาย เช่น เขาใส่ไฟผม อย่าไปเชื่อ.
ใส่ยา  ก. เอายาโรยหรือทาเป็นต้นที่บาดแผล.
ใส่ร้าย, ใส่ร้ายป้ายสี   ก. หาความร้ายป้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย เช่น เขาใส่ร้ายฉันว่าขโมยของเพื่อน.
ใส่สาแหรกแขวนไว้  (สํา) ก. เลี้ยงดูอย่างพะเน้าพะนอไม่ต้องให้ทําอะไร.
ใส่สีสัน, ใส่สีใส่สัน  (สํา) ว. อาการที่พูดขยายความให้เกินความจริง, ใส่ไข่ ก็ว่า.ใส่สีสัน, ใส่สีใส่สัน    (สํา) ว. อาการที่พูดขยายความให้เกินความจริง, ใส่ไข่ ก็ว่า.
ใส่ไส้  ก. สอดไส้ไว้ข้างใน, เรียกขนมชนิดหนึ่ง มีไส้หน้ากระฉีก ปั้นเป็นก้อนหุ้มด้วยแป้งข้าวเหนียวดำ แล้วหยอดด้วยแป้งข้าวเจ้า ผสมกะทิ และเกลือ ซึ่งกวนสุกแล้ว ห่อด้วยใบตองหรือใส่กระทงนึ่งให้สุก ว่า ขนมใส่ไส้, ขนมสอดไส้ ก็ว่า.
ใส่หน้ากาก  (สํา) ก. แสดงทีท่าหรือกิริยาอาการที่มิได้เกิดจากนิสัยใจจริง,แสดงกิริยาท่าทีลวงให้เข้าใจผิด, เช่น ต่างคนต่างใส่หน้ากากเข้าหากัน, สวมหน้ากาก ก็ว่า.
ใส่หน้ายักษ์ (สํา) ก. ทําหน้าถมึงทึงแสดงอาการเกรี้ยวกราด ดุดัน, ตีหน้ายักษ์ ก็ว่า.
ใส่หม้อถ่วงน้ำ   ก. ใช้เวทมนตร์คาถาเรียกวิญญาณผีใส่หม้อดิน แล้วเอาผ้าขาวปิดปากหม้อ เอาเชือกผูกคอหม้อ เสกคาถาขังวิญญาณไว้ในนั้น แล้วเอาไปถ่วงน้ำเพื่อไม่ให้วิญญาณออกมาอาละวาดอีก.
ใส่หม้อลอยน้ำ  ก. ขนันศพเด็กทารกแรกเกิดใส่หม้อดิน เอาผ้าขาวปิดปากหม้อพร้อมกับร่ายคาถากำกับ แล้วเอาไปลอยน้ำ.
คำตอบที่ถูกต้อง คือ ข้อ ค. ค.  เขาถูกใส่ความจนเสียคน

ข้ออื่นๆ มีข้อบกพร่อง ดังนี้
ก.  ชาวพุทธควรใส่บาตรทุกวันพระ  ควรเขียนดังนี้  ชาวพุทธควรตักบาตรทุกวันพระ ดูความหมายของคำว่า “ตัก” จากพจนานุกรม ด้านล่าง
ตักบาตร   ก. เอาของใส่บาตรพระ. (เทียบ ข. ฎาก่ ว่า วางลง).
ตักบาตรอย่าถามพระ   (สํา) ก. จะให้อะไรแก่ผู้ที่เต็มใจรับอยู่แล้ว ไม่ควรถาม.

ข.  หนุ่มสาวสมัยนี้ ชอบใส่กางเกงยีน  ควรเขียนดังนี้  หนุ่มสาวสมัยนี้ ชอบสวมกางเกงยีน 

ง.  ยกหีบใส่เรือให้หมด ควรเขียนดังนี้  ยกหีบลงเรือให้หมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น